ระบบน้ำประปาภายในบ้าน เรื่องสำคัญควรเข้าใจ
 
 “ปั๊มน้ำ” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำในเส้นท่อให้มีมากขึ้น เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการใช้น้ำภายในบ้านในเวลาเดียวกันหลายจุด เพื่อให้ทุกจุดมีความแรงของน้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ไหลอ่อนจนเกินไป และต้องใช้ร่วมกับถังเก็บน้ำภายในบ้านเท่านั้นไม่สามารถต่อตรงกับท่อประปาสาธารณะได้ เพราะนอกจากจะเป็นการส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของส่วนรวมแล้ว ยังผิดกฏหมายอีกด้วยค่ะ

ไม่ติดตั้งปั๊มน้ำได้หรือไม่
       บางท่านสงสัยว่าหากเราไม่ติดตั้งปั๊มน้ำจะสามารถใช้น้ำได้อย่างปกติหรือไม่ ขอตอบดังนี้ค่ะ ตามปกติแล้วท่อประปามีแรงดันในเส้นท่อที่สามารถจ่ายน้ำในบ้านพักอาศัย 2 ชั้นได้สบาย ๆ แต่หากมีการเปิดน้ำภายในบ้านพร้อมกันหลายจุดเกินไป อาจเกิดกรณีน้ำบางจุดไหลอ่อนบ้างแรงบ้าง ไม่สม่ำเสมออันเนื่องมาจากน้ำในเส้นท่อมีแรงดันไม่เพียงพอ ปั๊มน้ำจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์สำคัญภายในบ้านพักอาศัย เพื่อให้ใช้น้ำได้สะดวกขึ้น ซึ่งที่เรารู้จักกันทั่วไป คือ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ที่แบ่งได้หลัก ๆ เป็น 2 ประเภท คือ ปั๊มชนิดถังแรงดัน และปั๊มชนิดแรงดันคงที่
 
ปั๊มแบบถังแรงดัน (ทรงกระบอก) 
       ปั๊มชนิดนี้ทำงานโดยใช้หลักการให้น้ำไปแทนที่อากาศ เพื่อใช้แรงดันของอากาศในการปั๊มน้ำออกไปใช้งานในส่วนต่างๆ ของอาคาร มีราคาย่อมเยาว์ ดูแลรักษาง่าย ทนทาน  ให้แรงดันน้ำสูงกว่าปั๊มชนิดแรงดันคงที่เมื่อเทียบในกำลังวัตต์ที่เท่ากัน แต่มีข้อเสียคือให้แรงดันน้ำไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากต้องใช้แรงดันของอากาศเพื่อดันน้ำออกไป ดังนั้นหากเปิดใช้พร้อมกันหลายๆจุดอาจทำให้ความแรงของน้ำแต่ละจุดมีปริมาณไม่เท่ากันได้ นอกจากนี้ในปั๊มบางรุ่นมีการใช้วัสดุในการผลิตตัวถังเป็นเหล็กชนิดบาง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงดังได้  ข้อควรระวังสำหรับปั๊มน้ำชนิดนี้คือ การที่วัสดุตัวถังทำด้วยเหล็กและเคลือบกันสนิมภายใน  เมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดสนิมบริเวณตัวถังขึ้นได้ เนื่องจากวัสดุเคลือบกันสนิมหมดอายุ จึงควรวางในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง นอกจากนี้ในปัจจุบันเจ้าของบ้านยังสามารถเลือกใช้เป็นถังที่ผลิตจากสเตนเลสที่มีความทนทานมากกว่า
 
ปั๊มแบบแรงดันคงที่หรือแบบอินเวิร์ทเตอร์ (ทรงเหลี่ยม) 
       ปั๊มแรงดันคงที่เป็นปั๊มน้ำที่ให้แรงดันน้ำสม่ำเสมอ เหมาะกับบ้านที่มีการใช้น้ำหลายจุดและอุปกรณ์ที่ต้องการแรงดันน้ำที่คงที่ อาทิเช่น เครื่องทำน้ำอุ่น  ข้อดีของปั๊มชนิดนี้คือ มีการทำงานโดยใช้ตัวช่วยในการเพิ่มแรงดัน อาทิ แก๊สไนโตรเจน  ทำให้มีรอบในการอัดอากาศคงที่  ส่งผลให้การจ่ายน้ำมีปริมาณสม่ำเสมอ เช่น ถ้าเจ้าของบ้านใช้น้ำพร้อมกันทั้ง 3 จุด ปริมาณแรงดันน้ำก็จะมีปริมาณเท่ากันทั้ง 3 จุด เป็นต้น ปั๊มชนิดนี้มีเสียงเบาและขนาดที่ย่อมเยาว์กว่า แต่มีราคาสูงกว่าชนิดแบบถังแรงดัน (ทรงกระบอก)  ส่วนข้อจำกัดของปั๊มชนิดนี้คือ เมื่อเกิดปัญหารั่วซึมของถังความดัน จะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเติมก๊าซเองได้ ต้องถอดเปลี่ยนเท่านั้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีชนิดที่ใช้อากาศเป็นตัวช่วยในการเพิ่มแรงดันบ้างแล้ว ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้  ชิ้นส่วนวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแข็ง จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสนิมมากนัก แต่ก็ไม่ควรตั้งปั๊มชนิดนี้ไว้กลางแจ้งโดยไม่มีหลังคาคลุม เพราะอาจทำให้ปั๊มน้ำมีอ.สั้นลงกว่าที่ควร
ปั๊มน้ำขนาดไหนดี
       ผู้ผลิตปั๊มน้ำแต่ละรายมักมีแนวทางง่าย ๆ ที่จะให้เจ้าของบ้านเลือกปั๊มแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานภายในบ้านอยู่แล้ว อาทิเช่น บ้าน  1 ชั้นควรใช้ปั๊มน้ำประมาณ 150 w  บ้าน 2 ชั้น 250 w และ บ้าน 3-4 ชั้น 400 w เป็นต้น  ซึ่งข้อมูลที่ผู้ผลิตแต่ละรายนำมาเป็นแนวทางนั้น ก็มาจากการประมาณอัตราการใช้น้ำของอาคารแต่ละประเภท ประกอบกับความสูงของตัวอาคารนั่นเองค่ะ

       ปัจจุบันตามท้องตลาดทั่วไปเรามักจะเรียกชื่อปั๊มน้ำตามขนาดของมอเตอร์(กำลังวัตต์)ที่ใช้งาน แต่ขนาดมอเตอร์ดังกล่าวไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการไหลของน้ำแต่อย่างใด ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกขนาดของปั๊มน้ำ เจ้าของบ้านสามารถคำนวณหาขนาดของปั๊มน้ำที่เหมาะสมกับบ้านของตนเองเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อได้อย่างมั่นใจ โดยมีปัจจัยที่ควรพิจารณาดังนี้
       1. จุดจ่ายน้ำและปริมาณน้ำที่ต้องการใช้พร้อมกันภายในบ้านทั้งหมด ว่ามีปริมาณกี่ลิตร/นาที โดยพิจารณาร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆภายในบ้าน ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดก็จะมีความต้องการในการจ่ายน้ำที่ไม่เท่ากัน
       2. จำนวนคนที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน เพื่อให้ทราบว่าจะมีปริมาณน้ำที่ต้องการใช้เท่าไหร่ เพื่อเลือกใช้ปั๊มน้ำได้อย่างเหมาะสม
       3. บริเวณความสูงที่สุดของจุดจ่ายน้ำภายในบ้าน เพื่อนำมาพิจารณากับปั๊มแต่ละชนิดว่ามีประสิทธิภาพในการจ่ายน้ำได้ตามความสูงที่ต้องการหรือไม่
 
 


ตัวอย่างการพิจารณาเลือกขนาดปั๊มน้ำ
       บ้านเดี่ยว 2 ชั้น (ความสูงถึงจุดที่ต้องการจ่ายน้ำประมาณ  7  เมตร) มีจำนวนก๊อกน้ำภายในบ้านทั้งหมด 6 จุด แต่มีโอกาสใช้พร้อมกันทั้งหมด 3 จุด หลักการในการเลือกปั๊มน้ำมีดังนี้
       1. ระยะส่งของปั๊มน้ำ ในกรณีนี้เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น (ความสูงถึงจุดที่ต้องการจ่ายน้ำประมาณ 7 เมตร) ควรเผื่อค่าแรงเสียดทานที่อาจเกิดขึ้นในท่ออีกประมาณ 30% ดังนั้นควรเลือกปั๊มน้ำที่มีระยะส่งไม่น้อยกว่า 9 เมตร
       2. ปริมาณน้ำ (ลิตร/นาที) กรณีนี้ให้พิจารณาจากช่วงเวลาที่มีโอกาสใช้น้ำพร้อมกันทั้งบ้าน สำหรับบ้านหลังนี้มีโอกาสใช้น้ำพร้อมกันทั้งหมด 3 จุด ซึ่งตามปกติก๊อกน้ำมีอัตราการจ่ายน้ำประมาณ 9 ลิตร/นาที (โดยปริมาณน้ำดังกล่าวที่คำนวนมานี้อาจเป็นเพียงแค่ค่าประมาณเท่านั้น หากต้องการความแม่นยำมากขึ้นอาจจะต้องทำการพิจารณาเป็นเฉพาะอุปกรณ์ เนื่องจากอาจจะมีอุปกรณ์บางชนิดที่มีอัตราจ่ายน้ำมากกว่าค่ามาตรฐาน อาทิเช่น ฟลัชวาล์ว หรือ Rain shower เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้จากฉลากที่ติดมากับตัวอุปกรณ์) ดังนั้นปริมาณน้ำขั้นต่ำที่บ้านหลังนี้ต้องการใช้ในระยะเวลาเดียวกันคือ 27 ลิตร/นาที หากตารางผลิตภัณฑ์มีระบุจำนวนก๊อกน้ำ อาจใช้ข้อมูลดังกล่าวร่วมด้วยเพื่อช่วยในการตัดสินใจ       ปัจจุบันปั๊มน้ำกลายเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านอย่างเรา ๆ มากทีเดียว เนื่องด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยที่มากขึ้นส่งผลให้อุปกรณ์ในการใช้น้ำก็ต้องมีมากขึ้นไปโดยปริยาย รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ช่างทันสมัยและต้องการแรงดันน้ำที่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากเรามีหลักการในการเลือกใช้ปั๊มน้ำอย่างเหมาะสม เจ้าของบ้านจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องแรงดันน้ำที่ไม่เพียงพออีกต่อไป ทั้งสบายใจและสบายกระเป๋าเลยล่ะค่ะ 
 
 
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้